mmm

ยินตีต้อนรับสู่...อีสานบ้านเฮา ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตหรือภาคหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่บนที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำโขงกั้นเขตทางตอนเหนือและตะวันออกของภาค ทางด้านใต้จรดชายแดนกัมพูชา ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นแยกจากภาคเหนือและภาคกลาง การเกษตรนับเป็นอาชีพหลักของภาค แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทางด้านสังคมเศรษฐกิจ ทำให้มีผลผลิตที่น้อยกว่าภาคอื่นๆ ภาษาหลักของภาคนี้ คือ ภาษาอีสาน แต่ภาษาไทยกลางก็นิยมใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีภาษาเขมร ที่ใช้กันมากในบริเวณอีสานใต้ นอกจากนี้ยังมีภาษาถิ่นอื่นๆ อีกมาก เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาโส้ ภาษาไทยโคราช เป็นต้น ภาคอีสานมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น เช่น อาหาร ภาษา ดนตรีหมอลำ และศิลปะการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นต้น ภาคอีสาน มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยได้จัดว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูหลวง และภูกระดึงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสานในหลายจังหวัดด้วยกัน เช่น ลำตะคอง แม่น้ำชี แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย แม่น้ำพรม แม่น้ำมูล

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน


ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน หรือ ตำรายาฮากไม้ เป็นหนังสือใบลานมีหลายคัมภีร์ด้วยกัน เอิ้นว่า "คัมภีร์อภัยสันดา, คัมภีร์มหาโชตะรส" และ "คัมภีร์ปฐมจินดา" เป็นต้น เป็นของเก่าแก่ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล ยาปัวพยาธิทุกชนิดบ่ว่าจะเป็นยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบันก็ตาม โดยส่วนหลายแล้วเค้าเดิมแม่นเอามาจากฮากไม้หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ การออกไปเก็บยาในป่าของคนโบราณนั่นย่อมต้องมีพิธีรีตรองต่างๆ กัน บางคนก็ใช้กล บางคนก็ใช้เวทย์มนต์และคาถา ตลอดจนต้องหาฤกษ์ หายาม เวลาไปเอายา จึงจะสัมฤทธิผล ดังตำรากล่าวไว้ว่า

วันอาทิตย์ยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ลำต้น
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่เปลือก
วันจันทร์ยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่แก่น
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่เปลือก
วันอังคารยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่เปลือก
พิษยาอยู่ลำต้น
พิษยาอยู่ราก
วันพุธยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่เปลือก
พิษยาอยู่แก่น
วันพฤหัสบดียามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่แก่น
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่ลำต้น
วันศุกร์ยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่เปลือก
พิษยาอยู่ลำต้น
วันเสาร์ยามเช้า
ยามสาย
ยามเที่ยง
ยามค่ำ
พิษยาอยู่ราก
พิษยาอยู่ลำต้น
พิษยาอยู่ใบ
พิษยาอยู่แก่น


เมื่อไปถึงป่าตามฤกษ์ยามแล้ว ยังจะต้องมีกรรมวิธีในการเอายาอีก เพราะคนโบราณถือว่า สรรพสิ่งใดๆ ในโลกล้วนมีเจ้าของ ต้นไม้ก็มีเทพารักษ์ การจะเก็บยาจึงต้องมีการขอด้วยหลากหลายกรรมวิธีเช่นกัน ดังจะยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

bl2มนต์ปลุกยาแบบที่ 1
โอม กมฺมะเกมะมะ ว่า 3 เทื่อแล้วให้ทืบต้น 3 เทื่อ จึงว่า มนต์ยามพระยาธรผู้รักษาต้นยา ว่า "โอม ทิพย์พระยาธร ขี่ม้าจรมาจอกพอกๆ ฆ้อนกูจักตอกหัวพระยาธร ขี่ม้าจรลอดเมฆ" ว่า 3 เทื่อ แล้วจึงกล่าวมนต์ปลุกยา ว่า "โอม ขะลุกๆ กูจักปลุกฮากยาก็ตื่น พญายาไปอยู่แห่งอื่นก็ให้เสด็จเข้ามาสู่ต้นไม้อยู่ลีลา เสด็จเข้ามาอยู่ต้นยาอยู่ลีล้าย เชื้อลูกท้าวฝูงหมู่พญายา โอม สวาหับ" ว่า 3 เทื่อ แล้วจึงเอามือสั่นต้นยา 3 เทื่อ แล้ว ขุด หรือ ฟันเอาเทอญ

bl2มนต์ปลุกยาแบบที่ 2
"โอม ทิพมนต์ มนต์เจ้าพญายา พระฤาษีสั่งมาให้กูเอาต้นนี้ไปใส่...... (คนไข้ผู้ชื่อว่า...) ให้ซ่วง ให้เซา โอม สวาหายะ" ว่า 3 เทื่อ แล้วจึงขุด หรือฟันเอาเทอญ

bl2คาถาปลุกต้นยา (อีกแบบหนึ่ง)
"คับปัง คับระงับ คูบาสิทธิยะ ให้กูทงๆ ชินะ สวาหะ" ว่า 3 เทื่อ แล้วจึงขุด หรือฟันเอาเทอญ

bl2พิษณุยา
เป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นหมอยา จะต้องมีการแต่งขันธ์ 5 เพื่อการบูชา ประกอบด้วย พานหรือขัน 5 บรรจุ เทียนเล่มบาท 4 เล่ม เทียนน้อย 4 คู่ เทียนกิ่ง 4 คู่ ซวยกลม 4 ซวย ซวยเป 4 ซวย (ซวย=การม้วนใบตองลักษณะเป็นกรวย) ดอกไม้ขาว ซิ่นผืน แพรวา เหล้าก้อง ไข่หน่วย และเงิน 24 บาท
แต่งเครื่องครบแล้วให้ใต้เทียนติดขันธ์ 5 ยกขึ้นใส่หัว แล้วจึงว่า พิษณุยา ดังนี้

โอมสิท   โอมทง   โอมสิท   โอมทง
โอมสิท   โอมทง   กูทงแล้วกูบ่ได้ทงอาสน์
กูทงแล้วกูบ่ได้ประมาทครู   โอมสิท   โอมจับ
โอมสิท   โอมจับ   โอม   พิษณุจับกกยา
โอม   พิษณุจับฮากยา   โอมสิทธิ   โอมจับ
โอม   พิษณุจับ   โอม   พิษณุจับ   โอม   พิษณุจับ

ว่า 3 เทื่อแล      

bl2มนต์ปลุกเศกยา
"โอม ขะลุกๆ พ่อครูกูปลุกๆ ลุกแล้วอย่านั่ง พ่อครูกูสั่นๆ ลุกแล้วอย่านอน โอมสวหายะ" ให้ฝนยาแล้วจึงว่ามนต์ปลุกเศกยานี้ 3 เทื่อ จึงให้กินเทอญ

bl2คาถาปลุกยา (แบบที่ 1)
สกฺกตฺวา พุทฺธรตฺนํ
หิตํ เทวมนุสฺสานํ
นสฺสนฺตุปทฺทวา สพฺเพ
สกฺกตฺวา ธมฺมรตฺนํ
ปริฬาหูปสมนํ
นสฺสนฺตุปทฺทวา สพฺเพ
สกฺกตฺวา สงฺฆรตฺนํ
อาหุเนยฺยํ ปาหุเนยฺยํ
นสฺสนฺตุปทฺทวา สพฺเพ
โอสถํ อุตฺตมํ วรํ
พุทฺธเตเชน โสตฺถินา
ทุกฺขา วูปสเมนฺตุ เต
โอสถํ อุตฺตมํ วรํ
ธมฺมเตเชน โสตฺถินา
ภยา วูปสเมนฺตุ เต
โอสถํ อุตฺตมํ วรํ
สงฺฆเตเชน โสตฺถินา
โรคา วูปสเมนฺตุ เต

(ว่า 3 เทื่อ แล)


            bl2คาถาปลุกเศกยา (แบบที่ 2)
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา นขา
ทนฺตา ตโจ มํสํ นหารู อฏฐิ อฏฐิมิญชํ
วกฺกํ หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ
ปปฺผาสํ อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ
ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท
อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺคานิกา ลสิกา มุตฺตํ
มตฺถเกมตฺถลุงฺคํ

(ว่า 3 เทื่อ แล)


หมายเหตุปิดท้าย
            ตำรายาทั้งหมดนี้ เป็นของโบราณ ชื่อเรียกที่ปรากฏเป็นชื่อเรียกตามท้องถิ่น (อุบลราชธานี) ซึ่งอาจจะมีชื่ออื่นๆ แตกต่างออกไปตามแต่ละพื้นฐิ่น คำบางคำก็มีความหมายเป็นการเฉพาะของหมอยาที่เข้าใจกันได้ ซึ่งทางคณะผู้จัดทำไม่อาจอธิบายออกมาให้ชัดเจนกว่านี้ได้ ท่านผู้ใดทราบความหมายที่แน่ชัดโปรดได้ชี้แนะด้วย รวมทั้งชื่อของโรคที่เป็นภาษากลางและสรรพคุณทางยาที่ได้เคยทดลองแล้ว

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

สนุก...อีสาน











วังน้ำเขียว สวิสเซอร์แลนด์แดนอีสาน



           "วังน้ำเขียว" เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา สำหรับที่มาของชื่อ "วังน้ำเขียว" นั้น ได้มาจากสภาพภูมิประเทศของที่นี่ เพราะพื้นที่ในแถบนี้มีวังน้ำที่ใสสะอาดงดงามเป็นธรรมชาติ ซึ่งสายน้ำนั้นใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้ จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า... "วังน้ำเขียว"นั่นเอง 

            อย่างไรก็ตาม ที่วังน้ำเขียวนอกจากจะมีธรรมชาติที่งดงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมหนาแน่น เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญของพรรณไม้ที่หลากหลายแล้ว ยังมีน้ำตกที่สวยงามและจุดชมวิว ที่สามารถมองเห็นผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ของผืนป่าดงพญาไฟในอดีต อีกทั้งยังมีผลไม้นานาชนิดให้เลือกสรร เช่น องุ่น กระท้อน ลิ้นจี่ ลำไยและผลไม้เมืองหนาวอีกมากมาย รวมทั้งยังมีสวนไม้ดอก - ไม้ประดับที่สวยงาม การปลูกผักปลอดสารพิษ และการเพาะเห็ดหอม ซึ่งเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาพักผ่อนเพื่อสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการศึกษาหาความรู้ไปด้วย
 ว่าแล้วเราไปดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะว่าที่วังน้ำเขียวมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนน่าสนใจและน่าเที่ยวกันบ้าง... 



           เริ่มกันที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่าง "น้ำตกวังจระเข้"น้ำตกที่สวยที่สุดของ ต.ไทยสามัคคี เพราะเป็นน้ำตกที่ทอดยาว และมีน้ำใสในแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี น้ำตกแห่งนี้เป็นที่รองรับน้ำจากพื้นป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน และเป็นหนึ่งในสายน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำบางปะกงของภาคตะวันออก บริเวณสองฝั่งของห้วยขมิ้นจะยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติที่ยังมีพื้นป่าอยู่มากมาย ทั้งนี้ ทางเข้าสู่วังน้ำตกเป็นทางเดินเท้า จึงเหมาะแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินป่า และศึกษาธรรมชาติ 


         ต่อกันที่ "น้ำตกห้วยใหญ่" น้ำตกขนาดใหญ่ สูง 60 เมตร กว้าง 30 เมตร เป็นน้ำตกที่ไหลลงจากคลองห้วยใหญ่ ลักษณะของน้ำตกมีทั้งหมด 5 ชั้น ซึ่งเชื่อมต่อกับน้ำตกสวนห้อมของ ต.วังน้ำเขียว ซึ่งน้ำตกห้วยใหญ่จะมีน้ำมากในช่วงเดือนกรกฎาคม - เดือนตุลาคม สำหรับที่ตั้งจะอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ้านห้วยใหญ่ใต้ ต.ไทยสามัคคี ทางไปน้ำตกสามารถใช้เส้นทางจากทางหลวงหมายเลข 304 เมื่อถึงอำเภอวังน้ำเขียว ให้แยกเข้าซอยเทศบาล 4 ที่บริเวณตลาดสดศาลเจ้าพ่อ (ตลาด 79) ตามป้ายบอกทางไปวัดสวนห้อม แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางไปน้ำตกบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน 3 น้ำตก






วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

แนวกินบ้านเฮา

                   
                   หากจะกล่าวถึงอาหารการกินของคนอีสาน  หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยและได้ลิ้มชิมรส กันมาบ้างแล้ว   ชาวอีสานมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ   มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง    เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน   ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น  มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ  และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสาน  อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆเพียง 2-3 จาน  ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลักพวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลาหรือเนื้อวัวเนื้อควาย  ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้นไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล  แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้วจะออกรสชาติไปทางเผ็ด  เค็ม  และเปรี้ยวเครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย  คือ  ปลาร้า  ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน  ถ้าจะกล่าวว่าชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมีปลาร้าไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก   ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท   เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา

ลักษณะการปรุงอาหารพื้นเมืองอีสาน

» ลาบ เป็นอาหารประเภทยำที่มีเนื้อมาสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า พริก ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี รับประทานกับผักพื้นเมือง นิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่

» ก้อย เป็นอาหารประเภทยำที่จะนำเนื้อย่างมาหั่นเป็นชิ้นๆผสมกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่ ทานกับผักสดนานาชนิด

» ส่า เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำหนังหมู เนื้อหมูย่างสับมาผสมกับหัวปลี วุ้นเส้น

» แซ หรือ แซ่ เป็นอาหารประเภทยำที่นำเนื้อสดๆมาปรุงนิยมใช้กับเนื้อวัวและหมู คล้ายๆลาบแต่มักใส่เลือดสดๆด้วย กินกับผักสดตามชอบ คนโบราณนิยมกินเพราะเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล

» อ่อม เป็นอาหารประเภทแกงแต่มีน้ำน้อยมีผัก พื้นเมืองหลายชนิดนิยมใช้กับเนื้อ ไก่และปลาหรือเนื้อกบเนื้อเขียดหรือเนื้อสัตว์อื่นๆแต่เน้นที่ปริมาณผัก

» หมก เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบตองห่อนิยม ใช้กับเนื้อปลา ไก่ แมลง กบ เขียด ผักและหน่อไม้ หมกหรือห่อหมกของภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิ

» อู๋ คล้ายหมกแต่ไม่ใช้ใบตอง นิยมใช้กับเนื้อปลาโดยเฉพาะปลาตัวเล็กๆ กับพวกลูกอ๊อดกบ

» หม่ำ คือ ไส้กรอกเนื้อวัวผสมตับ ตะไคร้และเครื่องเทศอื่นๆ

» แจ่ว คือ น้ำพริกของชาวอีสานนิยมใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาร้า บางครั้งใส่มะกอกพื้นบ้านก็เป็นแจ่วมะกอก รับประทานกับผักสด ลวก หรือนึ่ง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันทุกบ้านในภาคอีสาน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก
» ตำซั่ว เป็นอาหารประเภทส้มตำชนิดหนึ่ง แต่ใส่ส่วนประกอบมากกว่า คือ ใส่ขนมจีน ผักดอง ผัก (เหมือนที่ใส่ขนมจีน) และมะเขือลาย หรือผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ประเพณี บุญบั้งไฟ เมืองยโสธร

      
     
          บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 ซึ่งจะตกในราวเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่านไถ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ขอให้ฝนตกก้องตามฤดูกาลเหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง

            คำอธิบายเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ รวมทั้งความคิดเห็นของคนทั้วไปมักกล่าวถึงความสำคัญของบุญบั้งไฟกับวิถีชีวิตของคนอีสาน ในฐานะพิธีกรรมแห่งความสมบูรณ์ และมีความเกี่ยวเนื่องกับตำนาน นิทานปรัมปราพื้นบ้าน เช่น เรื่องเท้าผาแดง - นางไอ่ ตำนานรักสามเส้าของเท้าผาแดง นางไอ่และท้าวพังคีพญานาค ที่มีการแข่งขันจุดบั้งไฟเพื่อแย่งชิงนางไอ่ จนกลายเป็นสงครามสู้รบและมีอภินิหารเล่าลือกันมากมาย 

          เรื่องพญาคันคากหรือคางคก ยกรบขอฝนจากแถนบนฟ้า พญาแถนรบแพ้พญาคันคากจึงยอมให้ฝนแก่โลกแต่มีข้อแม้ว่าหากพญาคันคากต้องการฝนเมื่อใด ก็ให้บอกพญาแถนด้วยการจุดบั้งไฟขึ้นไปบนฟ้า หรืออีกตำนานที่เล่าว่าพระพรหมกับพญานาคเป็นเพื่อนรักกัน พระพรหมอยู่บนสวรรค์พญานาคอยู่ใต้บาดาล อยากจะรู้สารทุกข์สุขดิบกันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงตกลงกันว่าเมื่อใดที่พญานาคอยู่ดีมีสุข ให้พญานาคจุดบั้งไฟไปบอกข่าวและพระพรหมจะส่งฝนตกลงมาบนพื้นโลก เป็นการตอบรับพญานาค 







กระติบข้าวและก่องช้าว ภูมิปัญญาชาวอีสาน

ก่องข้าว และ กระติบข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสาน ความแตกต่างของภาชนะทั้งสอง อยู่ที่รูปทรง โดยก่องข้าวจะมีลักษณะคล้ายกระบุง มีฝาปิด และมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก ดังภาพด้านซ้ายมือ มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ

ก่องข้าวใหญ่

ส่วนกระติบข้าวนั้นพบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว (ก่องข้าวใช้ตอกที่ทำจากติวไม้ไผ่ (ส่วนผิว) ซึ่งมีความแข็งจึงสานยากกว่า) ทำให้กระติบข้าวมีความแข็งแรงน้อยกว่าก่องข้าว


ก่องข้าวและกระติบข้าว เป็นภาชนะในการเก็บอาหารที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง (ที่ดูเหมือนจะถูกนำมาใช้แทน ก่องข้าว หรือ กระติบข้าว ของพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวส้มตำในเมืองใหญ่) ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าขาวบางรองอีกที ก่อนบรรจุข้าวเหนียว ถึงกระนั้น เม็ดข้าวที่อยู่ชิดรอบขอบกระติกก็ยังคงแฉะอยู่ดี

ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่ การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีความห่าง (ช่องว่างระหว่างตอกสาน) เล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่อง หรือกระติบข้าวได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่า เพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่


ในกรณีของกระติบข้าว จะเห็นว่าฝาปิด และตัวกระติบจะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย ให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ (ปัจจุบันนี้ใช้เชือกไนล่อน เพราะหาง่ายราคาถูกกว่า)
ด้วยเทคนิคการสานจากภูมิปัญญาไทยนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับ และยังคงอยู่ตลอดมา สร้างรายได้ให้กับชุมชนในการสร้างงาน และยังสืบสานความรู้ของการจักสานไว้ เช่น ที่หมู่บ้านทุ่งนางโอก อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร





ผ้าไหมสุรินทร์

ประวัติความเป็นมา

      จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่สนใจยิ่ง  หากศึกษาอย่างลึกซึ่งแล้ว  จะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่า  จังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองในเรื่องผ้าไหม  ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ   ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการทอ  ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของผ้าไหม  การผลิตเส้นไหมน้อย  และกรรมวิธีการทอ

                    จังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”)  มาใช้ในการทอผ้า  ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก  เรียบ  นิ่ม  เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย  นอกจากนี้การทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์  ยังมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน  และเป็นกรรมวิธีที่ยาก  ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง  เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว  ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า  มีการทอที่เดียวใบประเทศไทย  จนเป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ  ทรงรับสั่งว่า  ใส่แล้วเย็นสบาย  อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้ว


ลักษณะเด่นของผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์

                1.     มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์  โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชา และลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล 
                2.     นิยมใช้ไหมน้อยในการทอ  ซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม  มีลักษณะนุ่ม  เรียบ  เงางาม
                3.     นิยมใช้สีธรรมชาติในการทอ  ทำให้มีสีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ  คือ สีจะออกโทนสีขรึม  เช่น  น้ำตาล  แดง  เขียว  ดำ  เหลือง  อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้  
                4.           ฝีมือการทอ  จะทอแน่นมีความละเอียดอ่อนในการทอและประณีต  รู้จักผสมผสานลวดลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปที่สวยงามกว่าปกติ5.        แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านทำเพื่อไว้ใช้เอง และสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ 
การทอจะทำหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก  มิได้มีการทอเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด  จนมีคำกล่าวทั่วไปว่า “พอหมดหน้านา  ผู้หญิงทอผ้า  ผู้ชายตีเหล็ก




             

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

บั้งไฟพญานาค : มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง




ความเชื่อเกี่ยวกับ นาค” ในประเพณีออกพรรษาของชาวอีสาน
               วันออกพรรษา นับเป็นสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการประจำอยู่ในฤดูฝน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันออกพรรษาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ซึ่งแปลว่า อนุญาต หรื ยอมให้ คือเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้ง ล่วงเกิน ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษากิจของชาวพุทธโดยทั่วไปคือการบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังธรรมเทศนา
               สำหรับชาวอีสานมีประเพณีที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา เช่น ที่จังหวัดสกลนครมีงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นประเพณีงานบุญบนความรื่นเริงอันยิ่งใหญ่ในรอบปี
จังหวัดนครพนมมีงานประเพณีไหลเรือไฟเพื่อบูชารอยพระพุทธเจ้า สักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี  การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือน 11
จังหวัดมุกดาหารมีพิธี ตีช้างน้ำนอง”  ซึ่งเป็นพิธีเก่าแก่ โดยการนำเรือที่จะแข่งขันทุกลำมาร่วมพิธีเพื่อบวงสรวง ขอขมา พระแม่คงคาตามลำน้ำโขง
               จังหวัดหนองคายมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ พญานาค”  อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดนั้นคือปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค ตามลำน้ำโขง ซึ่งคนในท้องถิ่นมีความเชื่อว่าพญานาคใต้ลำน้ำโขง ได้จุดบั้งไฟร่วมถวายเป็นพุทธบูชาในการเสด็จกลับจากชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าครบ 3 เดือน   สู่โลกมนุษย์ในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยพญานาคได้เนรมิตบันไดแก้ว เงินทอง เป็นบันไดลงมา



บั้งไฟพญานาค ความลึกลับใต้ผืนน้ำ

              ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นบริเวณกลางแม่น้ำน้ำโขงหรือบริเวณใกล้ฝั่ง ในเขตอำเภอเมือง อำเภอโพนพิสัย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม อำเภอรัตนวาปี  จังหวัดหนองคาย ส่วนจุดที่มีบังไฟพญานาคเกิดมากที่สุดคือบริเวณหน้าวัดไทย และวัดจุมพลในเขตสุขาภิบาลอำเภอโพนพิสัย ซึ่งเป็นจุดต้อนรับผู้ที่จะมาชม บั้งไฟพญานาค” ในช่วงเทศกาลออกพรรษา




                ลักษณะของบั้งไฟพญานาคจะเป็นลูกไฟพุ่งจากแม่น้ำโขงขึ้นสู่อากาศมีระยะประมาณ 20  30 เมตร แล้วหายไป มีขนาดแตกต่างกันออกไป มีห้วงเวลาที่เกิดเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็น ในบางปีจะเริ่ม 2  3 ทุ่ม มีระยะการเกิดประมาณ 3  4 ชั่วโมง แล้วจึงค่อย ๆ หมดไป
จากคำบอกเล่าของชาวจังหวัดหนองคายพบว่าการเกิดบั้งไฟพญานาคมีมานานกว่า 60 ปี แต่เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในปี 2534 ภายหลังที่มีการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5  ซึ่งในเวลาต่อมาทางจังหวัดหนองคายได้มีการประชาสัมพันธ์และจัดงานเฉลิมฉลองในห้วงเวลาดังกล่าวเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด

บั้งไฟพญานาค ตามแนวทางวิทยาศาสตร์
               นายแพทย์มนัส กมลศิลป์ ในสมัยที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลหนองคาย ได้ศึกษาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมาเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้ทดลองและวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์จึงสรุปได้ว่า บั้งไฟพญานาค” น่าจะเป็นมวลสาร และจะต้องมีมวล เพราะสามารถแทรกน้ำขึ้นมาได้ น่าจะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และจะต้องเบากว่าอากาศ โดยจะเกิดขึ้นบริเวณน้ำลึกประมาณ 4.55  13.40 เมตร หรือหล่มดินเป็นที่เกิดของก๊าซ และก๊าซที่อยู่ใต้พื้นน้ำน่าจะมีจุดกำเนิดมาจากอินทรียวัตถุ เช่น มูลสัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว หมักเป็นก๊าซมากพอที่จะพลิกหรือเผยอหล่มโคลนใต้น้ำนั้นได้ โดยที่ก๊าซที่ได้เป็นลูก ๆ  นั้นจะมีขนาด 200 ซีซี. ลอยจากน้ำลึกขึ้นสู่ผิวน้ำในระดับ 1  5 เมตร จากนั้นจะเริ่มติดไฟด้วยตนเอง



วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ อำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์



            ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม มีทางแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 ไปตามทางราดยางอีกประมาณ 22 กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้างชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมาต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านไม่สามรถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี การเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลางไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้าท่านได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังได้สัมผัสการดำรงชีวิตของชาวส่วย พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้ว และยังสามารถเดินทางไปชมบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนและชวนให้ศึกษาในเชิงธรรมชาติด้วย นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับช้าง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง และให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับช้าง 






          ชาวบ้านตากลางได้จัดให้มีการแสดงช้างสำหรับนักท่องเที่ยว มีบริการนั่งหลังช้างชมหมู่บ้าน และโฮมสเตย์สำหรับผู้ต้องการพักค้างแรมและเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้าง ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม โทร.0 4414 5050,0 4451 1975 

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ประเพณีบุญหลวงและผีตาโขน

            ผีตาโขน เป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง โดยผู้เล่นทำรูปหน้ากากมีลักษณะหน้าเกลียดน่ากลัวมาสวมใส่ และแต่งตัวมิดชิด แล้วเข้าขบวนแห่แสดงท่าทางต่างๆ ในงานบุญตามประเพณีประจำปีของท้องถิ่นพื้นบ้าน การเล่นผีตาโขนมีปรากฏในพื้นถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย



            การจัดขบวนแห่ผีตาโขนจัดตามหมู่บ้านที่ส่งเข้าร่วมประกวด แต่ละหมู่บ้านจะมีการวาดลวดลายต่างๆ กันไป ในแต่ละขบวนยังมีการเพิ่มการแสดงตามความคิดของแต่ละหมู่บ้าน เช่น การเซิ้ง การแต่งตัวตลก การทำหุ่นผีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความหลากหลาย
            ขบวนแห่ผีตาโขนจะตั้งขบวนที่ที่ว่าการอำเภอ แห่ไปตามถนนจนถึงวัดโพนทอง และมีการแห่กลับเป็นบางครั้ง ในระหว่างการแห่ บรรดาผีๆ จะเล่นสนุกกับผู้คนข้างทางนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปถ่ายรูปกลางขบวนหรือถ่ายภาพกับผีได้ ผีหลายขบวนจะเขียนชื่อกลุ่มหรือชื่อหมู่บ้านไว้ที่หมวกที่ทำจากหวดแล้ววาดลวดลายด้วยสีสันสดใส