ก่องข้าว และ กระติบข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสาน ความแตกต่างของภาชนะทั้งสอง อยู่ที่รูปทรง โดยก่องข้าวจะมีลักษณะคล้ายกระบุง มีฝาปิด และมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก ดังภาพด้านซ้ายมือ มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ
ส่วนกระติบข้าวนั้นพบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว (ก่องข้าวใช้ตอกที่ทำจากติวไม้ไผ่ (ส่วนผิว) ซึ่งมีความแข็งจึงสานยากกว่า) ทำให้กระติบข้าวมีความแข็งแรงน้อยกว่าก่องข้าว
ก่องข้าวและกระติบข้าว เป็นภาชนะในการเก็บอาหารที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง (ที่ดูเหมือนจะถูกนำมาใช้แทน ก่องข้าว หรือ กระติบข้าว ของพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวส้มตำในเมืองใหญ่) ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าขาวบางรองอีกที ก่อนบรรจุข้าวเหนียว ถึงกระนั้น เม็ดข้าวที่อยู่ชิดรอบขอบกระติกก็ยังคงแฉะอยู่ดี
ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่ การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีความห่าง (ช่องว่างระหว่างตอกสาน) เล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่อง หรือกระติบข้าวได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่า เพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่
ในกรณีของกระติบข้าว จะเห็นว่าฝาปิด และตัวกระติบจะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย ให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ (ปัจจุบันนี้ใช้เชือกไนล่อน เพราะหาง่ายราคาถูกกว่า)
ด้วยเทคนิคการสานจากภูมิปัญญาไทยนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับ และยังคงอยู่ตลอดมา สร้างรายได้ให้กับชุมชนในการสร้างงาน และยังสืบสานความรู้ของการจักสานไว้ เช่น ที่หมู่บ้านทุ่งนางโอก อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น